ประวัติวันมาฆบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันมาฆบูชา

ประวัติวันมาฆบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันมาฆบูชา

ประวัติวันมาฆบูชา

ประวัติวันมาฆบูชาเริ่มต้นขึ้นภายหลังที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จเดินทางไปปฏิบัติพุทธกิจแสดงธรรม ณ ถ้ำสุกรขาตาเสร็จสิ้นแล้ว พระองค์ได้เดินทางกลับมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อหลังจากที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ไปเป็นเวลา 9 เดือน ในวันที่พระองค์เสด็จกลับมาประทับตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะ หรือเดือน 3 ในเวลาบ่าย พระอรหันตสาวกได้เดินทางมามาเข้าเฝ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า อันประกอบไปด้วย คณะศิษย์ของชฎิล 3 พี่น้อง จำนวน 1,000 รูป และคณะของพระอัครสาวก จำนวน 250 รูป รวมจำนวนได้ 1,250 รูป โดยในจำนวนนี้มิได้นับรวมชฎิล 3 พี่น้องและอัครสาวกทั้ง 2 ซึ่งการเดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันมาฆฤกษ์นี้นับเป็นการเข้าประชุมของพระอรหันต์ผู้เป็นมหาสังฆนิบาติ และประกอบด้วย องค์ประกอบอัศจรรย์ทั้ง 4 ประการที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต อันประกอบไปด้วย

  1. พระสงฆ์สาวกมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายเป็นจำนวน 1,250 รูป ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
  2. พระสงฆ์ที่เดินทางมาประชุมทั้งหมดต่างล้วนแต่เป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือการเป็นพระสงฆ์โดยได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
  3. พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6
  4. วันที่พระสงฆ์มาประชุมตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ โดยอาจเรียกวันนี้เป็นอีกคำหนึ่งได้ว่า วันจาตุรงคสันนิบาต หรือวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

มูลเหตุวันมาฆะบูชา

ภายหลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 และได้ทรงประกาศพระศาสนา อีกทั้งได้มีการส่งพระอรหันตสาวกออกไปจากริกเพื่อเผยแพร่พระทุทธศาสนายังสถานที่ต่างๆ ล่วงมาก็นับเป็นเวลาได้ 9 เดือน แต่เดิม พระสงฆ์เหล่านี้เคยนับถือศาสนาพราหมณ์อยู่ก่อนที่หันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และระลึกได้ว่าในวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) เป็นสำคัญของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเหล่าผู้ศรัทธา พราหมณลัทธินิยมถือกันว่าวันนี้เป็นวันศิวาราตรี โดยจะทำการบูชาพระศิวะด้วยการลอยบาป หรือล้างบาปด้วยน้ำ แต่บัดนี้ตนได้เลิกนับถือในลัทธิเดิม หันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว เห็นว่าควรเปลี่ยนเป็นเดินทางไปเข้าเฝ้าเพื่อฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า จึงทำให้พระอรหันต์เหล่านี้ที่เคยปฏิบัติศิวาราตรีอยู่เดิม พร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย

โอวาทปาฏิโมกข์

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆนิบาต อันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ทั้ง 4 หรือที่เรียกกันว่า จาตุรงคสันนิบาต พระองค์จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญซึ่งเป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมของพระสงฆ์เหล่านี้ เพื่อเป็นการวางจุดหมาย หลักการ รวมถึงวิธีการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาต มีใจความดังนี้

พระพุทธพจน์คาถาที่สอง

พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงวิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงที่เรียกว่า หลักการ 3 อันประกอบไปด้วย

  1. การไม่ทำชั่วทั้งปวง
  2. การบำเพ็ญแต่ความดี
  3. การทำจิตใจของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง

พระพุทธพจน์คาถาแรก

พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมาย หรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา หรือที่เรียกว่า อุดมการณ์ 4 อันประกอบไปด้วย

  1. ความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือ อีกทั้งเป็นสิ่งที่ต้องใช้ประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่างที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช อาทิ ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน
  2. การมุ่งให้ถึงพระนิพพานที่เป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน
  3. พระภิกษุและบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้ (ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา) ไม่ถึงทำให้ผู้อื่นลำบากด้วยการทำความทุกข์กาย หรือทุกข์ใจไม่ว่าจะในกรณีใดๆ
  4. พระภิกษุ ตลอดจนบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้ ต้องขอแก่ทายกด้วยอาการที่ไม่เบียดเบียน (ไม่เอ่ยปากเซ้าซี้ขอและไม่ใช้ปัจจัยสี่อย่างฟุ่มเฟยจนเดือดร้อนทายก)

โดยพระพุทธพจน์คาถาที่สองนี้ในโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในคาถาสามคาถากึ่งเท่านั้น

พระพุทธพจน์คาถาที่สาม

พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแพร่พระศาสนา 6 ประการที่เรียกว่า วิธีการทั้ง 6 อันประกอบไปด้วย

  1. การไม่กล่าวร้ายใคร
  2. การไม่ทำร้ายใคร
  3. การมีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย
  4. การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
  5. การรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด

ความสำคัญของวันมาฆบูชา

หากจะพูดโดยสรุปรวมแล้ว ความสำคัญของวันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งของโลก ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งในวันนี้เมื่อครั้งอดีตมีเหตุการณ์น่าอัศจรรย์เกิดขึ้น โดยพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมาย อีกทั้งพระสงฆ์เหล่านั้นยังเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า และเป็นพระอรหันต์อีกด้วย

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือวันมาฆบูชานี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์ ที่เป็นบอกกล่าวถึงหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา สามารถนำข้อกำหนดต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ได้ในทุกสังคม มีเนื้อหาที่กล่าวถึงการละความชั่วทุกชนิด หมั่นทำความดีให้เป็นกิจวัตร ให้ตนถึงพร้อมและมีจิตใจที่ผ่องใส

กิจกรรมที่พึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา

ในวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า อีกทั้งตลอดทั้งวันก็ยังมีการบำเพ็ญกุศลความดีอื่นๆ เพิ่มอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางไปวัดเพื่อรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง การถวายสังฆทาน การให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) การฟังพระธรรมเทศนา รวมถึงการไปเวียนเทียนรอบโบส์ถในช่วงเย็น

โดยปกติในวันมาฆบูชาก่อนที่จะเริ่มการเวียนเทียน วัดต่างๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ หรือที่การทำวัตรเย็น แล้วตามด้วยการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. หรือ 2 ทุ่มตรง (มีพระสงฆ์นำเวียนเทียน) ซึ่งบทสวดที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนเริ่มการเวียนเทียนนี้จะนิยมสวดตามลำดับ ดังนี้ (ทั้งบาลีและคำแปล)

  1. บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
  2. บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
  3. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
  4. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
  5. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
  6. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
  7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
  8. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
  9. บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อัชชายัง ฯลฯ)

ต่อจากนั้นจะมีการจุดธูปเทียนและถือดอกไม้ที่เป็นเครื่องสักการะบูชา แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถานจำนวน 3 รอบ โดยขณะที่กำลังเดินอยู่นั้นพึงตั้งจิตใจให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณด้วยการสวด อิติปิโส รอบที่ 1 ระลึกถึงพระธรรมคุณด้วยการสวด สวากขาโต รอบที่ 2 และปิดท้ายด้วยการระลึกถึงพระสังฆคุณด้วยการสวด สุปะฏิปันโน รอบที่ 3 ทำเช่นนี้ไปจนกว่าจะเวียนจบครบ 3 รอบ แล้วให้นำธูป เทียน ดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

ข้อมูลเพิ่มเติม Wikipedia.org , Dhammanatural.blogspot.com , Dhammathai.org

มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ วันมาฆบูชา ร่วมแสดงความเห็นได้เลย!